![]() |
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คืออะไร? โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับกระดูกโดยที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกค่อย ๆ ลดลง เกิดภาวะสูญเสียเนื้อกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางไม่หนาแน่นทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือ และกระดูกต้นแขนบริเวณหัวไหล่ โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงภัยร้ายของมัน จึงทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มฤตยูเงียบ” กระดูกเมื่อบางลงเรื่อย ๆ จะถึงจุดแตกหัก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้ตัวเองว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็เมื่อเกิดอาการกระดูกหักง่ายผิดปกติ จากรายงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จากรายงานโรคกระดูกพรุนจะเกิดได้ใน 1-3 ของผู้หญิงช่วงอายุ 60 ถึง 70 ปี และ 2 ใน 3 ที่อายุมากกว่า 80 ปี ผลเสียที่ตามมาของโรคนี้ก็คือ ทำให้คนไข้ที่กระดูกหักเคลื่อนไหวไม่ได้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเรื้อรังของระบบหายใจ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อและอาจเสียชีวิตได้
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้แก่ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟมากจนเกินไป กินอาหารรสเค็มจัด กินเนื้อหรืออาหารจำพวกโปรตีนมากเกินไป นอกจากนี้ยังเกิดจากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิงอีกด้วย เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยทำให้แคลเซียมมาจับที่เนื้อกระดูก กระดูกจึงบางลงมากภายหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว 5 -10 ปี และทำให้ผู้หญิงที่วัยเกินห้าสิบส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับโรคกระดูกพรุน
การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคนี้จะทำโดยใช้เครื่องมือวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่านั้น เครื่องเอ็กซ์เรย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถวัดหาปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ และถ้าพบลักษณะกระดูกพรุนจากการเอ็กซ์เรย์กระดูก ต้องรู้ว่าในขณะนั้นกระดูกได้พรุนไปแล้วหนึ่งส่วนสามของกระดูกปกติ
ใครบ้างมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน * สตรีที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือย่างเข้าสู่ช่วงวัยทองไปแล้ว เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงสูงสุด * ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ก็มีผลอย่างยิ่ง ต่อการเกิดโรคนี้เพราะเราพบว่าคนที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน มักมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่า * คนผอมมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอ้วน คนที่มีภาวะทุโภชนาการ เช่น กินอาหารไม่ครบสัดส่วน ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่า * คนที่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ * คนเชื้อชาติเอเชียก็มีโอกาสมากกว่าคนเชื้อชาติแอฟริกัน
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาโรคนี้ วิธีการรักษาในปัจจุบันมีผลเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น วิธีการรักษาที่มีอยู่ก็คือการใช้ยาเช่น แคลเซียม การให้ฮอร์โมนทดแทน และการให้วิตามินดีเป็นต้น
การป้องกันโรคกระดูกพรุน วิธีที่ดีสุด ก็คือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก ให้คำแนะนำการกินอาหารให้ครบหมู่และปริมาณเหมาะสมโดยเฉพาะผักใบเขียว ให้กินแคลเซี่ยมและวิตามินดี นมเป็นสารอาหารที่ให้แคลเซี่ยมดีที่สุด เด็กควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว (500 ซีซี) จนถึงวัยหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้สะสมให้มาก ควรออกกำลังกายเพียงพอและสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และแสวงหาคำแนะนำเพิ่มเติมในการป้องกันจากแพทย์
วิธีเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง 1 เสริมสร้างแคลเซียมด้วยนมและ อาหาร 2 ออกกำลังกายเป็นประจำ และบริหารฝึกการทรงตัว 3 ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงให้ไกลจากควันบุหรี่ด้วย 4 ไม่ดื่มชา กาแฟ หรือ น้ำอัดลม หากเลิกไม่ได้ให้ดื่มแต่เพียงเล็กน้อย 4 ออกไปรับแสงแดดอ่อนบ้างในช่วงเวลาเช้า ก่อน 9.00 น และช่วงเวลาเย็น หลัง 16.00 น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี จากแสงแดด 5 ดูแลเรื่องอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียม และโบรอนสูง เช่น เต้าหู้ ปลากรอบ กะปิ กุ้งแห้ง ส่วนโบรอนจะพบมากในผลไม้ เช่น แอปเปิล องุ่น ถั่วต่าง ๆ ได้แก่ ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง และถั่วลิสงเป็นต้น
อ้างอิงและภาพประกอบจาก : มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย |