อ่าน 21168 ครั้ง
มะเร็งในช่องปาก
content/88.jpg
 

      มะเร็งในช่องปากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย หนึ่งในสิบอันดับของมะเร็งในประเทศไทย โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงส่วนใหญ่มักจะพบมะเร็งในช่องปากในผู้สูงอายุที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป อาจพบในคนอายุน้อยได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก ในปี พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งช่องปากมากกว่า 260,000 รายทั่วโลก สำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้ ในประเทศไทยยังเป็นปัญหาทางการแพทย์อยู่ ในปัจจุบัน แม้เซลล์มะเร็งที่เกิดบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะโตไม่เร็วนัก แต่ก็มักตรวจพบในระยะเริ่มแรกค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีก้อนขนาดใหญ่หรือมีอาการมากแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ 3 และ 4 (advanced stage) ทำให้การรักษายากขึ้น

 

ตำแหน่งและอาการ

มะเร็งในช่องปากพบได้หลายตำแหน่ง เช่น ริมฝีปาก เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และ เพดานปาก เป็นต้น อาการส่วนใหญ่ของมะเร็งในช่องปาก คือ การพบก้อน หรือติ่งเนื้อ หรือ แผล เกิดขึ้น โดยก้อนเนื้อเหล่านั้น จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเวลาสัมผัสหรือเวลากินอาหาร บางครั้งอาจจะมีเลือดออกจากก้อน หรือ มีการอักเสบเกิดขึ้นได้  ในผู้ป่วยบางราย อาจเริ่มด้วยมีลักษณะของแผลที่เหงือก ร่วมกับฟันโยกคลอน และ หลุดออก หรือ ในบางราย อาจพบก้อน หรือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น โดยที่ความผิดปกติในช่องปากยังมีไม่มากก็ได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากเกิดได้จากหลายปัจจัยได้แก่

             1 เกิดจากการสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำ

             2 เกิดจากการดื่มสุราโดยเฉพาะดื่มสุราร่วมกับการสูบบุหรี่

             3 เกิดจากการเคี้ยวหมากพลูเป็นประจำ โดยหมากพลูและปูนแดงไปก่อให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุช่องปากซึ่งอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

             4 เกิดจากการสัมผัสกับแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน ๆ มักจะเกิดเป็นมะเร็งได้ทีบริเวณริมฝีปาก

             5 เกิดขึ้นกับผู้ที่ขาดสารอาหารและมีสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น มีฟันแหลมคม การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี ทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังและเกิดเป็น

                มะเร็งในที่สุด

            นอกจากนั้นยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น การรับประทานอาหารพวกปลาเค็ม การสูดดมควันไฟจากการปรุงอาหาร และการติดเชื้อจากไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น human papilloma virus (HPV) โดยเฉพาะ HPV type 16 และ 18 , herpes simplex virus type I ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคออื่น ๆ ด้วย  

 

อาการบ่งชี้ของมะเร็งในช่องปาก

·         ลิ้นมีรอยฝ้าขาว (White patch) รอยฝ้าแดง (Red patch) ฝ้าขาวปนแดง รักษาแล้วไม่ดีขึ้น

·         มีตุ่มหรือก้อน (Mass) ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ

·         มีแผลเรื้อรัง (Ulceration) ที่รักษาแล้วไม่หายภายในสองสัปดาห์

·         มีฟันโยกหรือฟันหลุดที่ไม่ได้เกิดจากฟันผุ

·         มีก้อนที่คอ

          หากท่านพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ที่ไม่หายเกิน 2 สัปดาห์ มีอาการเจ็บ มีเลือดออก หรือพบมีก้อนที่บริเวณลำคอโตผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะหากพบมะเร็งช่องปากในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายได้ มะเร็งที่เกิดขึ้นในช่องปากสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านระบบน้ำเหลือง โดยอาการแรกจะพบก้อนโตที่คอเนื่องจากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ  (Lymphatic spread) และอาจมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง (Local invasion) เช่น ปอด หรือแม้แต่กระดูกขากรรไกร และผิวหน้า ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะรุนแรงมักพบอาการขาดสารอาหาร การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอัดเสบ และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย

 

การรักษา

           หากเป็นมะเร็งในช่องปากแล้ว ขณะที่เป็นยังไม่มากสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในปัจจุบันวิธีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับและได้ผล คือ การผ่าตัด และ การฉายรังสี ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  ถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็งในช่องปากระยะที่เริ่มลุกลามแล้ว ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่งซึ่งแพทย์สามารถที่จะรักษาเพื่อควบคุมอาการของโรคได้ค่อนข้างดี

 

การป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งในช่องปาก

          โรคมะเร็งในช่องปากสามารถป้องกันได้โดยการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ รักษาสุขอนามัยในช่องปาก และรักษาสุขภาพโดยรวมโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

enlightened เรียบเรียงโดย : รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com

 

อ้างอิง

1. กฤติกาและคณะ การตรวจหาเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิโลมากับปัจจัยทางพยาธิคลินิกในผู้ป่วย

มะเร็งช่องปากและช่องคอ วารสารโรคมะเร็ง ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน ถึง มิถุนายน 2556

2 เว็บไซต์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

3 สาขาวิชาศัลยศาสตร์ ศีรษะ คอ และ เต้านม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เว็บไซต์ความรู้สู่ประชาชน

ภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net  by patrisyu







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#