อ่าน 12090 ครั้ง
เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 1
content/73.jpg
 

              หลังจากที่ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เปิดแถลงข่าวถึงสูตรยาสมุนไพรโบราณ “เบญจอำมฤตย์” เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งร่วมกันการรักษาแผนปัจจุบันนั้น มีผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ความสนใจและมาขอรับยาเป็นจำนวนมาก โดยตำรับยาเบญจอำมฤตย์นั้นปรากฏอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 9 ชนิด ได้แก่ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ อย่างไรก็ตามการรับยาสมุนไพรดังกล่าว ผู้ป่วยจะได้ต้องรับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลก่อนเพื่อมิให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย เนื่องจากสมุนไพร "เบญจอำมฤตย์"  นั้นไม่ใช่ยารักษามะเร็งให้หายขาด  แต่ช่วยต้านการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เสริมให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นแต่จะให้ได้ผลดีที่สุดจะต้องรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

 

                บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสมุนไพรในตำรับยา “เบญจอำมฤตย์” รวมทั้งคุณและโทษของสมุนไพรทั้ง 9 ชนิดดังกล่าว ทั้งนี้สมุนไพรแต่ละตัวถูกใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่หากนำมาผสมกันตามตำรับยาและนำไปทดลองใช้พบว่าออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ หรือ เบญจอำมฤตย์ มีรายละเอียดตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ อ้างอิงจาก "ตำรับยาเบญจอำมฤตย์" โดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) ดังนี้

 

ชื่อตำรับยา " เบ็ญจะอำมฤตย์ "

เอามหาหิงค์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล เอามหาหิงค์,ยาดำ, รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไท ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๒ สลึง ดีเกลือ ๔ บาท ยาห้าสิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ ทำเป็นจุณละลายน้ำส้มมะขามเปียก ให้รับประทานน้ำหนัก ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้อันเป็นเมือกมัน แลปะระเมหะทั้งปวง

 

หมายเหตุ การสะตุเครื่องยาเมาเบื่อในตำรับยานี้ ใช้มะกรูด,มูลโค,แกลบข้าว,และกำเดาจากแกลบข้าวจึ่งจะสะตุยาได้ฤทธิ์เครื่องยาเหมาะสมกับตำรับยานี้เท่านั้น ห้ามใช้วิธีอื่นเป็นขาด ดีเกลือต้องเป็นดีเกลือไทยเท่านั้น กระทำเป็นจุณ หมายยิ่งกว่าละเอียดคือเปรียบดั่งผงแป้ง และจักต้องใช้น้ำส้มมะขามเปียกเป็นกระสายยาเป็นเครื่องเชื่อมประสานปั้นเป็นลูกกลอนแล้วต้องได้น้ำหนัก ๑ สลึงพอดี ห้ามนำไปปรุงด้วยกรรมวิธีอื่นต้องกระทำดั่งระบุไว้ในตำรับเท่านั้นจึ่งสำเร็จสรรพคุณตามตำรับได้

 

             แพทย์แผนไทยผู้เขียนได้จำแนกเครื่องยาออกเป็น  3 อย่างคือ เครื่องยาหลัก ได้แก่ มหาหิงค์, ยาดำ, รงทอง มีสรรพคุณ ถ่ายลม,ถ่ายน้ำเหลือง,ถ่ายเสมหะและโลหิตที่เป็นพิษ,กัดฟอกเสมหะและโลหิต  เครื่องยาช่วยได้แก่ รากทนดี,ดีเกลือ มีสรรพคุณในการถ่ายเสมหะ,ถ่ายน้ำเหลืองเสีย,ขับเมือกมันในลำไส้ และเครื่องยาประกอบได้แก่ ขิงแห้ง,ดีปลี,พริกไท มีสรรพคุณในการ ขับเสมหะ,เจริญอากาศธาตุ, แก้ปถวีธาตุพิการ,แก้เสมหะเฟือง สำหรับบทความตอนที่ 1 นี้เราจะกล่าวถึงเครื่องยาหลักได้แก่มหาหิงคุ์ ยาดำ และรงทอง

 

>> มหาหิงคุ์ <<

ชื่อสามัญ : มหาหิงคุ์ , หินแมง (เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ferula asa-foetida  วงศ์ Umbelliferae

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : มหาหิงคุ์เป็นพืชล้มลุกในสกุล Ferula มีอายุหลายปี สูงไม่เกิน 3 เมตรเจริญเติบโตได้ในที่แล้งและในทะเลทราย มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง (ประเทศอิรัก อิหร่าน และอัพกานิสถาน) และภาคตะวันตกของประเทศจีน ลำต้นสีเขียวเกลี้ยง ใบมีลักษณะเป็นฝอย ดอกมีสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกผักชี เมื่อออกดอกแล้วจะสลัดใบทิ้ง รากและเหง้าสีน้ำตา มีเนื้อในสีขาว ให้ยางเมื่ออายุได้ประมาณห้าปี ยางจากรากเรียกว่า มหาหิงคุ์  คำว่า หิงคุ์ (Hingu) เป็นภาษาสันสกฤต โบราณไทยเติมคำว่า มหา เข้าไป เรียกเป็นมหาหิงคุ์ มหาหิงคุ์ มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลือง แดงและเหนียว มียางสีขาวฝังตัวอยู่ด้วยเป็นแห่งๆ มีกลิ่นเหม็นทนนาน มีรสเผ็ดร้อนและเบื่อ

          ประโยชน์ทางยา:  โบราณใช้มหาหิงคุ์ผสมกับแอลกอฮอล์ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มหาหิงคุ์ มีน้ำมันหอมระเหยที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบและชันรวมตัวกันอยู่ บางส่วนของน้ำมันนี้มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงได้ ยางจากรากมีกลิ่นฉุน รสเฝื่อนร้อนเหม็น และขม มีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ลมซึ่งมีอาการให้เสียดแทง แก้อาการเกร็ง  ขับประจำเดือน บำรุงธาตุ ชำระเสมหะและลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวด แก้ชักกระตุก แก้อาการทางประสาท ชนิดฮิสทีเรีย ใช้เป็นยาภายนอกทาแก้กลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย

          ข้อควรทราบ: การใช้มหาหิงคุ์จะใช้เป็นยาทาภายนอก การนำไปใช้กับเด็กทารกบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคัน ไม่ควรรับประทานเพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน และบวมที่ริมฝีปากได้

 

>> ยาดำ <<

          ยาดำ ยาดำเป็นเครื่องยาชนิดหนึ่ง ได้จากการตัดใบว่านหางจระเข้บริเวณส่วนโคนใบที่อยู่ใกล้กับผิวดิน จะมีน้ำยางสีเหลืองที่อยู่ระหว่างผิวนอกของใบกับวุ้น ไหลออกมา รวบรวมน้ำยางสีเหลืองใส่ภาชนะ นำน้ำยางสีเหลืองที่รวบรวมได้ไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนข้นเหนียว แล้วผึ่งแดดให้แห้ง จะแข็งกลายเป็นก้อนแข็งสีแดงน้ำตาลจนถึงดำ เปราะ ผิวมัน ทึบแสง รสขมเหม็นเบื่อ ชวนคลื่นไส้อาเจียน กลิ่นฉุน ประกอบด้วยสารกลุ่มแอนทราควิโนน หลายชนิด เช่น aloin, barbaloin (aloe-emodin)

          พืชที่ให้ยาดำ : ว่านหางจระเข้

          ประโยชน์ทางยา:    แก้โรคท้องผูก โดยกระตุ้นลำไส้และทางเดินอาหารให้บีบตัว ใช้เป็นยาแทรกในยาระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงแทรกหรือปนอยู่ทั่วไป เป็นยาถ่าย ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซร้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม  

          ข้อควรทราบ: ห้ามรับประทานมากเกินไป จะทำให้ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะลำไส้บิดเกร็งตัว อ่อนเพลีย ไตอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆได้ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทานเพราะทำให้แท้งได้

 

>> รงทอง<<

ชื่อสามัญ : รงทอง

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia handuryi Hook F. ชื่อวงศ์ : CLUSIACEAE

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :รงทอง เป็นไม้ยืนต้น สูง 12-15 เมตร ทุกส่วนมียางเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 8-14 ซม. สีเขียวเข้ม ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกเล็กๆ ที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลือง ผล เป็นผลสด

          ประโยชน์ทางยา: ยางของรงทอง เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง มีสรรพคุณในการถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายโรคท้องมาน ถ่ายเสมหะและโลหิต ซึ่งในหลักการของแพทย์แผนไทยก่อนนำมาใช้ต้องทำการสะตุเพื่อทำให้สะอาดและฆ่าฤทธิ์ก่อนนำไปใช้ปรุงยา มีรายงานว่าเปลือกและผลของต้นรงทองสามารถการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งท่อน้ าดี สาร xanthones ในรงทองยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งปากมดลูกและกรด gambogic ในรงทองกับการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งตับในหนู

          ข้อควรทราบ: ยางของรงทองมีสารพิษที่เป็นยาถ่ายอย่างแรง กระทรวงสาธารณสุขจึงจำกัดปริมาณการใช้สำหรับรับประทานในมื้อหนึ่งไม่เกิน 60 มิลลิกรัม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นพิษและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

*** อ่านต่อตอนที่ 2 *** 

เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 2

 

enlightened เรียบเรียงโดย รักสุขภาพดอทคอม raksukkapap.com

 

อ้างอิง

  1. นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา "ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์" (แพทย์แผนไทย) ลำดับชั้นที่๖ ในสายราชสกุลแพทย์ "ทินกร"
  2. piromwaroon.blogspot.com
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  4. นินนาท อินทฤทธิ์, ภาณัฐ เดชะยนต์, สุมาลี ปานทอง และ อรุณพร อิฐรัตน์ การเปรียบเทียบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งและฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของรงทองและรงทองสะตุ  ใน การประชุมเครือข่ายวิชาการบัณทิตศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1 (2555)
  5. ตำรายาไทย.blogspot.com

ภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net  by Stoonn







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#