อ่าน 12797 ครั้ง
เบาหวานลงไต
content/68.jpg
 

                ไตมีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายและควบคุมระดับเกลือแร่ในร่างกายให้ปกติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนและสารต่าง ๆ ที่ใช้ในร่างกายเช่น ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง (erythropoietin) หากไตทำงานผิดปกติ หรือเกิดภาวะไตวายจะทำให้มีน้ำ ของเสีย และเกลือแร่คั่งอยู่ในร่างกาย ตัวซีดเนื่องจากไขกระดูกไม่ผลิตเม็ดเลือดแดง หรือสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง

 

                ในปัจจุบันทราบกันดีว่าเบาหวานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกคนแต่จะพบเพียงร้อยละ 10 -20 ของผู้ป่ายเบาหวานเท่านั้น สาเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานป่วยเป็นโรคไตก็เนื่องจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ไต ทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดฝอยในไตและอัตราการกรองของไตสูงขึ้นทำให้ไตเสียหาย ซึ่งโรคไตเแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ คือ

 

ระยะที่ 1 เกิดขึ้นได้ทันทีเมื่อเริ่มเป็นเบาหวาน เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้นทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่จะไม่มีอาการแสดงของโรคไตในระยะนี้ มีเพียงอาการที่เกิดจากโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย

 

ระยะที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อป่วยเป็นเบาหวานได้ประมาณสองปี เริ่มมีการเปลี่ยนพยาธิสภาพที่ตัวกรองของไต อัตราการกรองของไตสูงขึ้นกว่าคนปกติที่ร้อยละ 20 – 40 การตรวจเลือดเพือดูการทำงานของไต (ครีอะตินีนในเลือด) จะพบว่าปกติ ตรวจปัสสาวะอาจพบน้ำตาลในปัสสาวะแต่ไม่พบอัลบูมินในปัสสาวะหรือพบน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน

 

ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการของโรคไตโดยจะพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยมานานเกินกว่า 5 ปี การเปลี่ยนแปลงที่พบในช่วงนี้คือเริ่มตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะอยู่ในช่วง 30 - 300 มิลลิกรัมต่อวัน ความดันโลหิตสูงขึ้นในแต่ละปีจนเข้าข่ายความดันโลหิตสูงคือ สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอต ถ้าตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระยะนี้หากได้รับการดูแลรักษาดีสามารถย้อนกลับไปเป็นระยะที่ 2 ได้ แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาการดำเนินของโรคจะไปอยู่ที่ระยะที่ 4

 

ระยะที่ 4 ระยะนี้จะพบการเสื่อมของไตอย่างต่อเนื่อง เมื่อไตทำงานลดลงทำให้ตรวจพบครีอะตินีนสูงกว่าปกติ ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 0.5 กรัมต่อวัน ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการไตวายก็ได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะไตเสื่อม หากไตเสื่อมไปมากทำให้มีของเสียคั่งค้างมาก จะก่อให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีแรง หนาวง่าย อาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นหากผู้ป่วยมีอาการซีดเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำลง ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูง ในระยะนี้ถ้ามีการดูแลรักษาเป็นอย่างดีอัลบูมินในปัสสาวะอาจลดลงหรือหายไปได้ ชะลอการเสื่อมของไตได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะดำเนินไปสู่ระยะที่ 5

 

ระยะที่ 5 ระยะนี้การทำงานของไตลดลงจนเป็นไตวาย การทำงานของไตลดลงนเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 ปัสสาวะน้อยลงมาก มีอาการบวมตามเนื้อตัว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ซึม ไม่รู้ตัวซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การล้างไต

 

              enlightened อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะป่วยเป็นโรคไตแทรกซ้อน เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างเช่น พันธุกรรม การดูแลตนเอง และประวัติทางครอบครัว ส่วนการป้องกันและดูแลโรคไตจากโรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

 

1 ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตแล้วยังสามารถลดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ และลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย

 

2 ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 180/80 มิลลิเมตรปรอท หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เนื่องจากมีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูง การมีความดันโลหิตสูงจะไปเร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

 

3 ควบคุมไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอล (LDL) หรือ ควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดอัลบูมินในปัสสาวะและอาจช่วยชะลอการเสื่อมของไต

 

4 ควบคุมปริมาณโปรตีนในอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานเนื่องจากโปรตีนทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น และมีส่วนในการทำให้เกิดโรคไต โดยปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคโปรตีนในปริมาณต่ำกว่าคนปกติ

 

5 ผู้ป่วยเบาหวานในระยะที่ 4 จะมีอาการซีดจากการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงจึงควรเสริมด้วยธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักการได้รับธาตุเหล็กจากการรับประทานอาจจะไม่เพียงพอดังนั้นจึงต้องเสริมด้วยการให้ธาตุเหล็กทางเส้นเลือดซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะกระทำการใด ๆ

 

6 งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่เนื่องจากจะทำให้อาการป่วยทรุดหนักลงมากขึ้น

 

7 หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น การผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ให้ปรึกษาแพทย์เพราะภาวะเหล่านี้อาจซ้ำเติมให้โรคไตจากเบาหวานแย่ลง

 

                 ดังที่กล่าวมาหากผู้ป่วยเบาหวานดูแลและรักษาร่างกายอย่างถูกต้องแล้ว อาการแทรกซ้อนจากโรคไตก็อาจไม่เกิดขึ้นหรือสามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกาย ตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเป็นระยะเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติเพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:  

1.       อ.นพ.ไพฑูรย์ ขจรวัชรา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

2.       ความรู้เรื่องเบาหวาน ฉบับสมบูรณ์ โดย ศ. น.พ. เทพ หิมะทองคำ และทีมบรรณาธิการ

 

ภาพประกอบจาก: freedigitalphotos.net By dream designs

yes เรียบเรียงโดย รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#