![]() |
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีโรคแทรกซ้อนมากมาย อย่างหนึ่งที่พบบ่อย คือ การเกิดแผลที่เท้า ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลอาจทำให้กลายเป็นเนื้อเน่าเกิดการลุกลามยากแก่การรักษา หากไม่สามารถรักษาได้ทันอาจถึงกับต้องตัดขาในที่สุด
1. ปลายประสาทเสื่อม ได้แก่การเสื่อมของปลายประสาท ประสาทควบคุม กล้ามเนื้อ และ ระบบประสาทอัตโนมัติบริเวณเท้า เมื่ออประสารทรับความรู้สึกที่เท้าเสื่อมจะทำให้ไม่ผู้ป่วยไม่รู้สึกเมื่อได้รับบาดเจ็บและเกิดแผลบริเวณเท้า เมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดจึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ทำให้แผลที่เกิดขึ้นเกิดการอักเสบและลุกลามมากขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดเป็นตาปลา (callus) ทำให้ผิวหนังตรงส่วนนั้นหนาขึ้นและเมื่อเกิดการกดทับตาปลาจากการเดินอาจทำให้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลาย มีการติดเชื้อและอักเสบและแตกออกมาเป็นแผลได้ แผลที่เกิดจากโรคผิวหนังเช่น ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้าก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บหรือคันจึงไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงทีทำให้อาการของโรคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเสื่อมของประสาทควบคุมกล้ามเนื้อยังอาจทำให้เท้าผู้ป่วยผิดรูปทำให้เกิดจุดกดทับและเกิดเป็นแผลได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานจะสูญเสียการควบคุมของการหลั่งเหงื่อ เมื่อเหงื่อออกน้อย ผิวจะแห้งแตกทำให้เกิดการติดเชื้อโรคและแผลลุกลามได้ง่าย
2. ความผิดปกติของหลอดเลือด เกิดจากที่หลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดตีบทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่ออย่างเพียงพอ ทำให้ปลายเนื้อเยื่อตาย ผิวหนังบริเวณปลายนิ้วเท้ามีดำคล้ำเนื่อง บาดแผลใด ๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถสมานเองได้เนื่องจากการขาดเลือด
3. การติดเชื้อแทรกซ้อน แผลที่เท้าของผู้ป่วยมักพบการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ร่วมด้วยเสมอ โดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณนิ้วเท้าทำให้เกิดเป็นแผลถลอกได้ง่ายและยังรักษาได้ยากอีกด้วย
เบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยพบว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นที่บริเวณเท้า ควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่ จากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่น เบตาดีนเจือจาง ไม่ควรใช้ยาที่มีสีเช่น ยางแดงหรือทิงเจอร์ไอโอดีน เนื่องจากจะสังเกตลักษณะแผลได้ยาก ปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าพันแผลสะอาดที่ปราศจากเชื้อ และ ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง หากผู้ป่วยเป็นตาปลาควรรักษาความสะอาดและตัดออกอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดเป็นเนื้อตาย หากพบความผิดปกติของแผล เช่น บวมแดงมากขึ้น หรือ มีหนอง ให้รีบปรึกษาแพทย์ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการทำแผล การใช้ยาปฏิชีวนะ หากเกิดการลุกลามรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้มีการผ่าตัดได้
· ควรตรวจดูเท้าทุกวันว่ามีความผิดปกติ หรือ มีบาดแผลใด ๆ หรือไม่ โดยต้องตรวจให้ทั่วทั้งซอกนิ้ว ฝ่าเท้า หลังเท้าและส้นเท้า · ทำความสะอาดเท้าอยู่เสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หลังทำความสะอาดดูแลให้เท้าแห้งแต่อย่าให้แห้งจนเกินไปโดยเฉพาะฤดูหนาวควรใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ด้วย · ไม่ควรเดินเท้าเปล่าโดยเฉพาะนอกบ้านเพราะอาจเกิดบาดแผลได้โดยไม่รู้ตัว · ควรบริหารเท้าเพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนได้สะดวก · สุดท้ายเมื่อพบปัญหาที่เท้าต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุดและหากพบว่าบาดแผลมีความผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ความรู้เรื่องเบาหวาน ฉบับสมบูรณ์ โดย ศ. น.พ. เทพ หิมะทองคำ และทีมบรรณาธิการ ภาพประกอบจาก: freedigitalphotos.net By satit_srihin
|