อ่าน 2266 ครั้ง
การดูแลภูมิแพ้ในเด็กช่วงฤดูหนาว
content/62.jpg
 

              อาการภูมิแพ้ในเด็กเกิดขึ้นได้กับเด็กทั่วโลก เด็กมีโอกาสที่จะป่วยเป็นภูมิแพ้มากขึ้นหากพ่อหรือแม่มีประวัติการเป็นภูมแพ้มาก่อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเองและพ่อแม่เป็นอย่างมากในการดูแลรักษาสุขภาพประจำวัน แพทย์หญิง ปัญจมา  ปาจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคภูมแพ้ในเด็กไว้ดังนี้

 

โรคภูมิแพ้ในเด็ก แบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่


              1. โรคแพ้อาหารพบได้ตั้งแต่อายุน้อย โดยอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้มากที่สุด ได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี ไข่ และอาหารทะเล


              2. โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคที่มีอาการผื่นคันบริเวณผิวหนัง โดยตำแหน่งของผื่นมักขึ้นอยู่กับช่วงอายุ
                      -  ระยะเด็กเล็ก   ผื่นมักจะพบที่แก้ม หน้าผาก หนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า
                      -  ระยะเด็กโต    พบผื่นที่บริเวณข้อพับแขน ขา ข้อเท้า รวมถึงมือและเท้า
                      -  ระยะผู้ใหญ่     พบผื่นที่ข้อพับ หน้า คอ มือและเท้า
* ผู้ป่วยจะมีผื่นคันมากขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งโดยทั่วไปในเด็กเล็กสิ่งที่กระตุ้น คือ “อาหารที่แพ้”


             3. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล และแน่นจมูก โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการมากในช่วงเช้าหรือเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้


             4. โรคหอบหืด: ถ้าเป็นไม่มาก อาจเริ่มมีอาการไอในช่วงกลางคืน เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย และถ้ายิ่งได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ จะทำให้มีอาการหอบหืด หายใจเสียงดังวี้ด ๆ
* โดยทั่วไปเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นร่วมด้วย



สำหรับช่วงอากาศหนาวจะสามารถสังเกตอาการภูมิแพ้ในเด็กได้ ดังนี้


               -  อาการแพ้ทางผิวหนัง  ผิวจะแห้งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการคัน เด็กจะเกาจนส่งผลให้ผื่นลุกลามมากขึ้น
               -  จมูกอักเสบจากภูมิแพ้  จะเป็นหวัดมากขึ้น มีอาการจาม น้ำมูกไหล คันจมูกและคัดจมูก ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้ในเด็กที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว และหากติดเชื้อซ้ำเติมก็จะทำให้มีอาการเพิ่มมากขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบได้
              -  โรคหอบหืด  นอกจากจะเป็นหวัดง่าย และกระตุ้นให้เกิดอาการหอบแล้ว ในกลุ่มที่มีอาการหอบสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย จะมีอาการได้ง่ายขึ้นในช่วงอากาศเย็นด้วย อาการที่สังเกตได้ คือ ไอช่วงกลางคืน หรือไอภายหลังจากออกกำลังกาย บางครั้งอาจหายใจมีเสียงวี้ด ๆ และมีอาการหอบ



เราสามารถป้องกันไม่ให้โรคภูมิแพ้ทุกชนิดกำเริบในฤดูหนาวได้โดยปฏิบัติดังนี้

 

               1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อรา  โดยปิดหน้าต่างเมื่อมีลมแรง หมั่นกำจัดใบไม้ร่วงที่ทับถมบนพื้น รวมถึงเศษหญ้าชื้นแฉะในสนามทั่วไป และควรสวมใส่หน้ากาก ถ้าต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงกับการฟุ้งกระจายของเชื้อรา เช่น กวาดใบไม้หรือดูดฝุ่น ส่วนผู้ที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ชนนิดอื่น ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่แพ้อย่างเคร่งครัด


               2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการหวัด พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลให้ร่างกายอบอุ่น


               3. ควรใช้ยาควบคุมอาการเป็นประจำและสม่ำเสมอ  ไม่ควรขาดยาในช่วงนี้ สำหรับการดูแลเฉพาะโรคนั้นอาจมีเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ได้แก่
                     3.1  โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้  ควรดูแลไม่ให้ผิวแห้ง โดยหมั่นทาโลชั่นทุกวัน เช้า-เย็น
                     3.2  โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้  ถ้าเริ่มมีน้ำมูกควรล้างจมูกทุกวัน เพื่อลดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และยังเป็นการช่วยให้น้ำมูกไม่สะสมในจมูก
                     3.3  โรคหอบหืด  ก่อนออกกำลังกาย ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ และในรายที่มีอาการหอบในช่วงออกกำลังกาย อาจป้องกันโดยใช้ยาพ่นขยายหลอดลม ก่อนออกกำลังกาย ประมาณ 15-30 นาที และควรพกยาขยายหลอดลมติดตัวเสมอ
*ที่สำคัญ ผู้ป่วยภูมิแพ้ทุกชนิด หากสังเกตว่าร่างกายเริ่มมีอาการผิดปกติมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน



จริงหรือไม่ เด็กภูมิแพ้ทุกชนิด ควรหลีกไกล “ตุ๊กตาขนปุย”?
              

                โดยทั่วไป สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้น พบว่า “ไรฝุ่น” เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กไทย มีผลการวินิจฉัยพบว่าไรฝุ่นมักจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส จึงทำให้พบไรฝุ่นตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม รวมถึงตุ๊กตาที่อยู่บนเตียงนอน ถึงแม้ว่ายังไม่เคยมีการศึกษาว่าตุ๊กตาขนปุยจะมีไรฝุ่นสะสมมากกว่าตุ๊กตาจากผ้าชนิดอื่นๆ หรือไม่ แต่การที่มีขนปุยนั้น ก็น่าจะเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่นได้ง่ายกว่า และทางที่ดีที่สุด คือ ผู้ที่แพ้ไรฝุ่น ควรหลีกเลี่ยงตุ๊กตาทุกชนิด
                เนื่องจากโรคภูมิแพ้จะต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หมั่นกำจัดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบ และดูแลสุขภาพของลูกน้อยและของคุณให้แข็งแรงไปพร้อม ๆ กันด้วยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก :   อ.พญ.ปัญจมา  ปาจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล      

ภาพประกอบจาก: freedigitalphotos.net by Arvind Balaraman

 

yes เรียบเรียงโดย: รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com 







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#