อ่าน 2623 ครั้ง
การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ
content/131.jpg
 

หัวใจหลักในการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ

 

1.       ทำให้ช่องปากสะอาดและชุ่มชื้นอยู่เสมอ

2.       ใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

3.       ตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์เป็นประจำทุก 2 เดือน

 

การดูแลสุขภาพช่องปาก

      ควรใช้แปรงที่มีขนนุ่มทำความสะอาดช่องปากหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง แปรงโดยวิธีโมดิฟายเบส วิธีการคือ วางแปรงให้ขนแปรงอยู่บริเวณคอฟันกับขอบเหงือก ปลายขนแปรงชี้ไปทางปลายรากฟัน จากนั้นขยับแปรงสีฟันไปมาเบา ๆ แล้วบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดไปทางด้านบดเคี้ยว ทำซ้ำตำแหน่งเดิม 3 – 5 ครั้ง ก่อนขยับไปตำแหน่งต่อไป เมื่อแปรงฟันเสร็จแล้วให้แปรงด้านบนของลิ้นเบา ๆ เพื่อขยับไปตำแหน่งต่อไป เมื่อแปรงเสร็จแล้วให้แปรงด้านบนของลิ้นเบา ๆ เพื่อขจัดคราบเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ออกให้หมด ยาสีฟันควรใช้แบบอ่อน ๆ ที่ไม่ระคายเคืองหรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตผสมน้ำให้เป็นครีมใช้แทนยาสีฟัน ถ้าในช่องปากเป็นแผลไม่สามารถแปรงฟันได้ ให้ใช้ผ้าหรือสำลีสะอาดชุบน้ำแล้วเช็ดทำความสะอาดฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก

 

น้ำยาบ้วนปากที่แนะนำให้ใช้

·         น้ำยาบ้วนปากโซเดียมไบคาร์บอเนต เตรียมโดยใช้โซเดียมไปคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว ใช้อมบ้วนปากวันละ 4 – 5 ครั้ง หรือทุก 2 ชั่วโมง

·         น้ำยาบ้วนปากเกลือโซดา เตรียมโดยใช้ โซเดียมไบคาร์บอเนตและเกลือป่น อย่างละ ¼ ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว ควรใช้ทันทีเมื่อเตรียมเสร็จ ใช้อมบ้วนปากวันละ 4 – 5 ครั้ง หรือทุก 2 ชั่วโมง

·         น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มีผลข้างเคียง คือ ทำให้การรับรสเปลี่ยนและทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลที่ตัวฟัน

ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ การแปรงฟันเป็นการทำความสะอาดช่องปากที่ดีที่สุด การบ้วนปากไม่สามารถทดแทนการแปรงฟันได้

 

การดูแลฟันปลอม

 

1. การรักษาด้วยเคมีบำบัด

                ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดอาจเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปากและเกิดการติดเชื้อได้ ผู้ป่วยถอดฟันไว้จนกว่าอาการในช่องปากจะดีขึ้น จึงเริ่มใส่ฟันปลอมได้

 

2. การรักษาด้วยรังสี

                มีผลข้างเคียงทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ เป็นแผล น้ำลายลดลง ทำให้ฟันหลวมไม่แนบกับเหงือก ดังนั้นระหว่างการรักษาด้วยรังสี ผู้ป่วยไม่ควรใส่ฟันปลอม เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีกับเนื้อเยื่อ เกิดการอักเสบเป็นแผลที่รุนแรงมากขึ้น

 

                ผู้ป่วยควรเริ่มใส่ฟันปลอมอีกครั้ง เมื่อหยุดรังสีประมาณ 1 ปี หรือ ปีครึ่ง โดยก่อนเริ่มใส่ฟันปลอม ผู้ป่วยควรนำฟันปลอมเดิมไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเนื้อเยื่อช่องปาก สภาพฟันปลอม และความแนบของฟันปลอมกับเหงือก ฟันปลอมเดิมไม่แนบกับเหงือกก็ควรจะทำใหม่ เมื่อใส่ฟันปลอมแล้วผู้ป่วยควรกับไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบการใช้ฟันปลอมเป็นระยะ เช่น ทุก 1 เดือน เพื่อค้นพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะเกิดแผลซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่กระดูกตาย ฟันปลอมที่ถอดทิ้งไว้ควรทำความสะอาดก่อน แล้วจึงเก็บแช่ในภาชนะที่มีน้ำสะอาด ควรนำฟันปลอมที่เก็บไว้ออกมาล้างและเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ การทำความสะอาดฟันปลอมใช้แปรงสีฟันขนอ่อน และสบู่ขจัดคราบสกปรกและล้างด้วยน้ำสะอาด

 

การใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ

ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอควรใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มการรักษา โดยฟลูออไรด์มีให้เลือกใช้ดังนี้

 

1. การใช้ฟลูออไรด์เจล ร่วมกับถาดเฉพาะตัวเป็นการเคลือบฟลูออไรด์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทำโดยการหยดฟลูออไรด์เจลใส่ถาดแล้ววางถาดให้แนบกับตัวฟัน 5 นาที โดยควรทำทุกวันตั้งแต่เริ่มรักษาด้วยรังสี

 

2. การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยใช้อมบ้วนปากวันละ 3 – 4 ครั้ง

 

หากผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือเจ็บปวดในช่องปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์ด่วน  เพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิด

 

ขอบคุณข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ความรู้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ขอบคุณภาพประกอบจาก  freedigitalphotos.net by marin







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#