![]() |
Obstructive sleep apnea (OSA) ในเด็กคือ ความผิดปกติของการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วนหรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นพักๆขณะหลับ ทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจและระบบการนอนหลับ ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกอายุ แต่พบบ่อยมากในช่วงอายุ 2 – 6 ปี อัตราการเกิดพบประมาณ 2% ของประชากร พบในเด็กผู้หญิงพอ ๆ กับเด็กผู้ชาย
OSA ในเด็กต่างจาก OSA ในผู้ใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่ของ OSA ในเด็กเกิดจากต่อมทอนซิลที่อยู่ข้างโคนลิ้น และต่อมอดีนอยด์(ทอนซิลที่อยู่หลังจมูก)มีขนาดโตเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้น ร่วมกับการคลายตัวของกล้ามเนื้อคอส่วนต้นขณะหลับ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ นอกจากนี้ OSA ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีกมาก ได้แก่ เด็กอ้วนเกินไป ทำให้มีไขมันสะสมที่บริเวณคอเพิ่มขึ้น, เด็กที่มีลักษณะโครงหน้า คาง ลิ้น และคอผิดปกติ ทำให้ลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้นแคบกว่าปกติ, การทำงานของระบบกล้ามเนื้อและประสาทผิดปกติ, ภาวะพันธุกรรม และฮอร์โมน เป็นต้น
อาการ เด็กมักจะนอนกรนแบบมีอันตรายร่วมกับอาการหายใจลำบากขณะนอนหลับ โดยหายใจได้ปกติดีขณะตื่น อาการที่น่าสงสัยว่าลูกมีปัญหานอนกรนแบบมีอันตราย
เด็กที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการนอนกรนผิดปกติ (OSAS) มีต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอดีนอยด์โต ซึ่งจะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ถ้าต่อมโตมากจะทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมาก เด็กที่อ้วนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีกรามเล็ก, มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy เด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม และ เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง
การวินิจฉัย วิธีการทดสอบที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้เรียกว่า Polysomnography (Sleep Study) เป็นการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในขณะที่เด็กหลับตลอดคืน ทำโดยให้เด็กมานอนในห้องพิเศษที่โรงพยาบาล 1 คืน พร้อมผู้ปกครอง มีพยาบาลพิเศษคอยสังเกตการหายใจของเด็ก เครื่องคอมพิวเตอร์จะวัดค่าต่างๆ ผ่านสายที่ติดที่ตำแหน่งต่างๆบนตัวเด็ก และบันทึกข้อมูลไว้ตลอด 6 – 8 ชั่วโมง การตรวจนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เด็กเจ็บปวด ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์จะบอกให้ทราบได้ว่า เด็กมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับหรือไม่และความผิดปกติที่พบมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
ผลของ OSA การหยุดการหายใจขณะหลับมีผลทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ถ้าอาการหายใจสะดุด หรือมีอาการหยุดหายใจมากขึ้นและติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อสมอง ความจำ และสมาธิ จะลดลง ในเด็กจะมีพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ ที่ลดลง OSA ที่เป็นรุนแรง จะทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
การรักษา รักษาโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้ ใช้ยาพ่นจมูก งดยาที่ทำให้ภาวะนี้เป็นมากขึ้น ได้แก่ ยานอนหลับ ยาลดน้ำมูก บางรายที่เป็นไม่มากนักอาจจับเด็กนอนคว่ำหรือนอนตะแคง อาจทำให้อาการดีขึ้นได้บ้าง ถ้าต่อมทอนซิลและอดินอยด์โต รักษาโดยให้หมอผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ออก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนหลังการผ่าตัด พบว่าช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ถึง 75-100% จึงถือเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยกลุ่มนี้
เด็กอ้วนต้องลดน้ำหนัก!!! ในกรณีที่เด็กมีโครงสร้างหน้าผิดปกติ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างหน้า และช่องทางเดินหายใจ ถ้าแก้ไขทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ CPAP ผ่านหน้ากากที่ครอบบนจมูกของเด็กขณะนอนหลับ เครื่องช่วยหายใจนี้จะมีความดันบวกตลอดเวลา ทำให้ทางเดินหายใจของเด็กเปิดโล่งขึ้น
ขอบคุณที่มา : โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช |